วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บทคัดย่องานวิจัย


ชื่อเรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษานานาชาติของมหาวิทยาลัยราชภัฏ


ชื่อนักศึกษา ประภาพร บุญปลอด

ปริญญา ปรัชญาดุษฏีบัณฑิต

สาขาวิชา ความเป็นผู้นำและการบริหารการศึกษา

ประธานกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ รศ.ดร.ประกอบ คุปรัตน์

กรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ผศ.ดร. นภดล พูลสวัสดิ์

กรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ รศ.ดร. ปรีชา คัมภีรปกรณ์

ปีการศึกษา 2554



บทคัดย่อ



                 วิทยานิพนธ์นี้มีความมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน ปัญหา และความคาดหวังด้านพันธกิจ แล้วนำมายกร่างข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษานานาชาติของมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านพันธกิจการจัดการศึกษานานาชาติของมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยรวบรวมข้อมูลงานวิจัย แนวคิดเกี่ยวกับข้อเสนอเชิงนโยบายและการจัดการศึกษานานาชาติ รวมถึงทฤษฏีต่าง ๆที่เกี่ยวข้องมาสร้างแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 504 คน ที่ได้มาด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) ประกอบด้วยผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษาและผู้ปกครอง ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ และเก็บข้อมูลโดยการ สัมภาษณ์ ที่เป็นผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษา และผู้ปกครอง ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ และเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้มาแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จากอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ จำนวน 9 ท่าน และผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 ท่าน ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาพหุกรณีสถานศึกษาต้นแบบการบริหารจัดการปฐมศึกษา จำนวน 3 แห่ง ขั้นตอนที่สองเป็นการพัฒนาร่างข้อเสนอเชิงนโยบายจากข้อมูลที่สังเคราะห์ได้จากผลการวิจัยในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และการตรวจสอบร่างข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้จากขั้นตอนที่สองโดยพิจารณาจากเกณฑ์ความเหมาะสม ความสอดคล้อง ความเป็นประโยชน์ และความเป็นไปได้ ด้วยวิธีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการและวิธีการประชาพิจารณา ผู้มีส่วน ได้เสีย เสนอผลวิจัยโดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์

             ผลการวิจัยพบว่าการจัดการศึกษานานาชาติจะต้องมีรายละเอียดหลายประการที่มุ่งจะก่อให้เกิดผลสำเร็จตามปรัชญา ปณิธาน เป้าหมาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ ภารกิจ วัตถุประสงค์ และนโยบายที่กำหนดไว้ ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษานานาชาติที่เป็นผลจากการวิจัยเชิงนโยบายที่ยึดถือหลักการวิจัยแบบผสมที่อาศัยข้อมูลจากหลากหลายแหล่งตามหลักการสามเส้าในขั้นตอนแรก และอาศัยหลักการมีส่วนร่วมแบบบูรณาการจากผู้มีส่วนได้เสียในการพัฒนาและการตรวจสอบร่างข้อเสนอเชิงนโยบายในขั้นตอนที่สองและขั้นตอนที่สาม ทำให้มีความเชื่อมั่นว่า เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีความเหมาะสม ความสอดคล้อง ความเป็นประโยชน์ และความเป็นไปได้