Business Computer Program, Faculty of Management science, Surindra Rajabhat University, Surin, Thailand 32000
วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552
การศึกษาระบบเปิด (Open Systems)
วิชา หลัก ทฤษฎี และปฏิบัติการบริหารการศึกษา
(Operation Analysis in Educational Administration)
นางสาวประภาพร บุญปลอด
จากการศึกษาระบบเปิด (Open Systems)
โปรดใช้ระบบเปิดเพื่อวิเคราะห์ระบบการศึกษาไทย โดยแสดงการศึกษาดังต่อไปนี้
- สภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ในส่วนที่มีผลกระทบต่อระบบการศึกษาไทยทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตจนถึงอีก 10 ปีข้างหน้า
- ผลกระทบต่อระบบการศึกษาไทย ทั้งในด้านตัวป้อน (Input) ตัวระบบการศึกษาไทย (Through put) ตัวส่งออก (Output) และข้อมูลการสะท้อนกลับ
ตอบ การศึกษาระบบเปิด (Open System) คือ การศึกษา "ขยายวง" ที่มุ่งเปิดโอกาสให้แก่ผู้เรียนโดยการขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ผู้ด้อยโอกาส และกระจายโอกาสทางการศึกษาให้กว้างขวางทั่วทุกท้องถิ่น เป็นระบบที่ช่วยให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมในโอกาสทางการศึกษา ในลักษณะ "ใครใคร่เรียน เรียน" และอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ เพราะเป็นการศึกษาถึงบ้านและบริการถึงตัวนักศึกษา (วิจิตร ศรีสอ้าน,2525)
ดังนั้นการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันของการศึกษาไทย ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการศึกษาไทยตามหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนานโยบายการระบบการศึกษาของประเทศไทยกับโลกปัจจุบัน
ทุกวันนี้มีนักวิชาการและบุคคลต่างๆออกมาวิเคราะห์และวิจารณ์การจัดการศึกษาของไทยมากมาย ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เป็นไปในทางลบ ทั้งระบบการจัดการศึกษา และคุณภาพของผู้เรียน ส่วนใหญ่มุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว จนทำให้การศึกษาของไทยและมาตรฐานผู้เรียนของไทยก้าวไม่ทันโลก จึงสมควรที่จะหันกลับมามองและคิดใหม่ว่าเกิดอะไรขึ้น โดยวิเคราะห์นโยบายการจัดการศึกษาของไทย และพิจารณาว่ามีแนวทางใดที่จะพัฒนาการศึกษาของไทยในปัจจุบัน และวางแผนเกี่ยวกับการศึกษาในอนาคตของไทย โดยการพัฒนาต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ สอดคล้องกับความเป็นไทยในบริบทโลก ถ้าจะมาวิเคราะห์นโยบายการศึกษาไทย จะพบว่ามีกำหนดไว้ในเอกสารของทางราชการหลายแห่ง แหล่งที่สำคัญมี 4 แหล่ง คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แผนการศึกษาแห่งชาติ แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ และนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา (สุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัย. 2536 :379-381) นโยบายสมัยดั้งเดิมของไทยเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย ยังไม่มีระบบโรงเรียน การศึกษาสมัยใหม่เริ่มในรัชกาลที่ 5 เน้นผลิตกำลังคนเข้ารับราชการ นโยบายการศึกษาสมัยเริ่มการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น มีการเน้นพื้นฐานการเป็นพลเมืองดี
การเรียนรู้ระบอบประชาธิปไตย ในช่วงยุคสงครามโลกเน้นความเป็นชาตินิยม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เน้นการขยายตัวของการศึกษาในทุกระดับ ในสมัยประชาธิปไตยเปลี่ยนชื่อโครงการศึกษามาเป็นแผนการศึกษาชาติและมีการกำหนดนโยบายการศึกษาในรัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งนโยบายการศึกษาสมัยพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ กำหนดนโยบายและทิศทางของการพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มีการขยายการศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา และเมื่อพิจารณานัยแห่งเจตนารมณ์บางมาตราในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้แสดงเจตจำนงของรัฐและรัฐบาลอย่างชัดเจนในเรื่องนโยบายการศึกษาของไทย โดยให้มีการปฏิรูปการศึกษาขึ้น ซึ่งถ้าวิเคราะห์องค์ประอบของนโยบายการศึกษานี้ ตามแนวทางทั้ง 4 ลักษณะ ตามโครงสร้างและกระบวนการ คือ 1. นโยบายในฐานะแม่บทของการบริหาร 2. นโยบายในฐานะส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาการศึกษา 3. นโยบายในฐานะเป็นกรอบของการปฏิบัติ และ 4. นโยบายในฐานะเป็นกระบวนการดังนั้นจะเห็นได้ชัดเจน ว่านโยบายการศึกษามีความชัดเจนเป็นแม่บทของการบริหาร ครอบคลุมหน่วยงานทุกระดับ เป็นแม่บทของการดำเนินงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ และยังมีการกำหนดเงื่อนไขของระยะเวลาที่ปฏิบัติ มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาของชาติ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจลังคม ซึ่งมีการปรับตามความเหมาะสมว่าควรเร่งพัฒนาคนอย่างไร ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 8 จนถึงปัจจุบันฉบับที่ 10 ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ซึ่งหมายถึงพัฒนาการศึกษาให้ทันยุคทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และนโยบายในฐานะที่เป็นกรอบของการปฏิบัติ คือ มีทั้งแนวทางปฏิบัติและกฎเกณฑ์ปรากฏชัดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ส่วนในฐานะของกระบวนการ ก็คือ เมื่อมีการกำหนดนโยบาย ก็ต้องมีการนำโยบายไปปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติก็ต้องมีการประเมินผล และนำผลย้อนกลับมาพิจารณาตัดสินว่า นโยบายควรมีพลวัต ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก ซึ่งประการนี้ก็ปรากฏให้เห็นว่า เจตจำนงของผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายมีการพิจารณาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจริง ดังปรากฏตามวาระเมื่อมีการเปลี่ยนสมัยของรัฐบาลเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สาระสำคัญของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติในรูปนโยบายและแผน เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่าชัดเจน ซึ่งถ้าเปรียบนโยบายเป็นหางเสือในการเดินเรือไปตามทิศทางที่กำหนด และแผนเป็นการจัดเตรียมสัมภาระต่างๆที่ใช้ในการเดินเรือ ตลอดจนตรวจสภาพเรือก่อนออกเดินทาง นโยบายและแผนก็ดูเหมือนพร้อมที่จะนำพาการศึกษาของไทยไปสู่จุดมุ่งหมาย ถ้าพิจารณาวัตถุประสงค์ ที่ว่าจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (มาตรา 6) โดยมุ่งปลูกจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งพาตนเองมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง (มาตรา 7) (สำนักนโยบายและแผนการศึกษาฯ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, 2543) ทิศทางก็ยิ่งชัดเจน ส่วนนโยบายข้อที่ 1 คือ ความเสมอภาคของโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เร่งจัดการศึกษาให้บุคลมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกัน ในการเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยมีเป้าหมายความสำเร็จภายในไม่เกิน 5 ปี นโยบายข้อที่ 2 เป็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน และจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับและประเภทการศึกษา ซึ่งก็กำหนดระยะเวลาการปฏิบัติไว้ นโยบายข้อที่ 3 เกี่ยวกับปฏิรูประบบริหารและการจัดการศึกษา ซึ่งนำไปสู่การกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการมีส่วนร่วมของส่วนที่เกี่ยวข้อง นโยบายข้อที่ 4 ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ทำให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการผลิตครู การส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพ การพัฒนาบุคลากรทางด้านการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐานเหมาะสมกับการเป็นวิชาชัพชั้นสูง(มาตรา 9 (4), 52) นโยบายข้อที่ 5 หลักสูตร และนโยบายข้อที่ 6 กระบวนการเรียนรู้ จะเห็นว่านโยบาย 2 ข้อนี้ทำให้เกิดการปฏิรูปการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ นโยบายข้อที่ 7 เกี่ยวกับทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษาและนโยบายข้อที่ 8 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จากพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งได้มีแนวทางและกติกาการจัดรูปแบบการจัดการศึกษาของชาติไว้อย่างละเอียดและครบถ้วนสมบูรณ์ จึงนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา 5 ด้าน ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่า “ปัญจปฏิรูป” (ธีระ รุญเจริญ. 2550: 9) การนำนโยบายการศึกษาไปปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้มีการประเมินตลอดทั้งผู้ที่อยู่ในแวดวงวิชาการการศึกษาและบุคคลทั่วไป รวมทั้งมีนักวิชาการทำการวิจัยถึงผลของการปฏิบัติการ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวให้รับทราบกันตลอดเวลา เพราะแนวทางหนึ่งในการกำกับนโยบายก็คือ การศึกษาข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการกำกับติดตามนโยบาย ที่ดูเหมือนคนในชาติแทบทุกส่วนพยายามทำหน้าที่นี้ ซึ่งก็เป็นข้อดีสำหรับผู้มีอำนาจหรือผู้มีหน้าที่ในการตัดสินใจกำหนดนโยบายจะได้มีข้อมูลประกอบการพิจารณา ดังเช่นในรัฐบาลปัจจุบันที่มี ศ.ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีวาระการทำงานเพียง 1 ปี ได้แถลงนโยบายทิศทางการปฏิรูปการศึกษา ว่าในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีจะต้องทำงานด้านการศึกษาให้เป็นรูปธรรม โดยทบทวน 3 ประเด็นหลัก อันเป็นที่มาของนโยบายการศึกษา ดังนี้
1. การปรับแก้ไขปัญหาอุปสรรคการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลที่แล้ว ได้แก่ การจัดอัตรารับรองข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและปัญหาเงินวิทยฐานะ
2 การเสริมเติมเต็มการปฏิรูปการศึกษาให้เดินทั้งระบบและครบกระบวนการ
3. ปรับแต่งให้การปฏิรูปการศึกษาสอดคล้อง-สนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลง และได้นำ 3 ส่วนนี้มากำหนดเป็นนโยบายปฏิรูปการศึกษา 6 ประการ ซึ่งได้แก่ 1. เร่งรัดการปฏิรูปการศึกษาโดยยึดคุณธรรมนำความรู้ 2. ขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานของประชาชนให้กว้างขวางและทั่วถึง โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 3. พัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ 4. กระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่และสถานศึกษา 5. การมีส่วนร่วมของประชาชน ภาคเอกชนและท้องถิ่น 6. การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สร.สาร สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ.7 พ.ย. 2549:1-5)
แต่ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกดูเหมือนจะถูกย่อให้เล็กลงด้วยวิทยาการก้าวหน้าด้านการสื่อสารโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้กลายเป็นโลกไร้พรมแดน และทำให้คนบนโลกทีการติดต่อสื่อสารกันอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การผสมผสานความคิด ค่านิยม ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างมวลมนุษยชาติหรือที่เรียกว่า “โลกาภิวัตน์” ที่นำโลกเข้าสู่ยุคแห่งการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างประเทศใหม่ อันมีผลกระทบต่อทุกชาติ ทุกภาษารวมทั้งประเทศไทย ถึงแม้กระแสโลกาภิวัตน์จะมีประโยชน์มากมายแต่ก็นำมาซึ่งสิ่งไม่ดีที่แฝงมาด้วย และก่อให้เกิดโทษมากมาย ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันทุกวันนี้ มีข่าวและประเด็นต่างๆที่มีผู้นำเสนอผลงานวิจัยบ้าง ออกมาวิจารณ์แสดงความคิดเห็นบ้าง ถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย ทั้งการปฏิรูปการศึกษาที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ คุณภาพผู้เรียนตกต่ำ ปัญหาครูไม่มีคุภาพ หลักสูตรไม่สอดคล้องกับความต้องการบ้าง ซึ่งผลงานส่วนใหญ่กระทรวงศึกษาก็รับไปเต็มๆ เช่น ตัวอย่างข่าวการศึกษา (คม-ชัด-ลึก 17 สิงหาคม 2550) ระบบการศึกษาไทยขาดการจัดการที่ดี มหาวิทยาลัยถูกคุมเข้ม-หลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน
ในระยะเวลาที่ผ่านมาสำหรับการศึกษาของไทย มีทั้งส่วนที่ประสบผลสำเร็จและส่วนที่ยังเป็นปัญหา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากโลกาภิวัตน์มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของไทย คงต้องใช้เวลาในการพัฒนาต่อไป โดยเร่งสร้างเร่งพัฒนาผู้นำทางการศึกษา ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปรูปแบบการเรียนการสอนใหม่เพื่อสร้างคุณภาพให้ผู้เรียนที่จะต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะไม่มีนโยบายใดที่นำไปปฏิบัติแล้วได้ผลเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ในทันที และใช่ว่าประเทศอื่นจะไม่ประสบปัญหา เพราะประเด็นปัญหาที่หลายประเทศต้องเผชิญ เมื่อนำนโยบายด้านการศึกษาโดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาไปใช้ในการกระจายอำนาจการบริหารสถานศึกษาสู่โรงเรียน โดยปัญหาที่พบมากได้แก่ความมีอิสระในการบริหารตนเอง กับความจำเป็นที่ต้องมีการตรวจสอบ การกระจายอำนาจการบริหารกับความเสมอภาคทางการศึกษา การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและวัฒนธรรม การกระจายอำนาจการบริหารกับผลที่ได้รับ รวมถึงการลดขนาดหน่วยงานกลางลงเมื่อมีการกระจายอำนาจซึ่งปัญหาก็ขึ้นกับบริบทของประเทศ ทั้งนี้การจะแก้ปัญหาต้องพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม พิจารณาถึงความเป็นไปได้ของประเทศไทย
การวิเคราะห์ สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กร (SWOT)
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กรทางการศึกษา เพื่อศึกษาแนวโน้มการพัฒนาการศึกษาให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น โดยแนวโน้มการพัฒนาการศึกษาขององค์กรทางการศึกษาต้องมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาตามเงื่อนไขข้อจำกัดและองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษา ซึ่งได้แก่ นโยบายในการจัดการศึกษาของหน่วยงาน ต้นสังกัด รูปแบบการบริหารงานขององค์กรทางการศึกษา และปัจจัยทีเกี่ยวข้องอื่น การศึกษาความต้องการของชุมชน เป็นการสำรวจความต้องการขององค์กรชุมชนที่องค์กรทางการศึกษาตั้งอยู่ความต้องการของผู้ปกครองนักเรียน และความต้องการของชาวบ้านในชุมชนสรุปมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน การวิเคราะห์สภาพขององค์กรทางการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาการศึกษาจะต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ด้วยเรียกว่า SWOT Analysis ซึ่งได้แก่ Strengths – จุดแข็งหรือข้อได้เปรียบ Weaknesses – จุดอ่อนหรือข้อเสียเปรียบ Opportunities - โอกาสที่จะดำเนินการได้ และThreats - อุปสรรค หรือปัจจัยที่คุกคามการดำเนินงาน
การวิเคราะห์ SWOT อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการทำ Situation Analysis เป็นการวิเคราะห์สภาพองค์การ หรือหน่วยงานในปัจจุบัน เพื่อค้นหาจุดแข็ง จุดเด่น จุดด้อย หรือสิ่งที่อาจเป็นปัญหาสำคัญในการดำเนินงานสู่สภาพที่ต้องการในอนาคต การวิเคราะห์สภาพการณ์ (Situation Analysis) วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน เพื่อให้รู้ตนเอง (รู้เรา) รู้จักสภาพแวดล้อม (รู้เขา) ชัดเจน และวิเคราะห์โอกาส-อุปสรรค เพื่อประโยชน์ในการกำหนดวิสัยทัศน์ หรือเลือกกลยุทธ์ระดับองค์กรที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการทำ Strategic Decision การทำ Strategic Decision เป็นการตัดสินใจเลือกกลยุทธ์หรือวิธีดำเนินงานที่สำคัญ และเป็นหลักในการปฏิบัติไปสู่สภาพที่ต้องการในอนาคตขององค์การ เพื่อการบรรลุ Vision หรือสภาพในอนาคตตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการเลือกโดยคำนึงถึงสภาพในอนาคต โดยคำนึงถึงจุดที่ต้องการ โดยรู้สถานการณ์ เห็นถึงโอกาสและรู้จุดดีจุดเด่นตลอดจนจุดอ่อนในการดำเนินงานไปสู่จุดหมายที่ต้องการขององค์การในอนาคตเป็นการค้นหากลยุทธ์โดยหลักการ มองกว้าง เห็นไกล รอบคอบ ตามหลักการกำหนดกลยุทธ์ในแบบต่าง ๆ กลยุทธ์เชิงรุก กลยุทธ์เพื่อความเจริญก้าวหน้า (Growth Strategy) กลยุทธ์แบบคงที่ (Stability Strategy) กลยุทธ์แบบตัดทอนป้องกัน (Retrenchment and Defense Strategy) กลยุทธ์การตั้งราคา-การขาย กลยุทธ์การแข่งขัน กลยุทธ์การเป็นผู้นำ กลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์และบริการกลยุทธ์การจำกัดขอบเขตปฏิบัติการเป็นต้น
การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์และยุทธศาสตร์ขององค์การวิสัยทัศน์ (Vision) คือ ภาพในอนาคตขององค์กรที่ผู้นำและสมาชิกทุกคนร่วมกันวาดฝัน
หรือจินตนาการขึ้นโดยมีพื้นฐานอยู่บนความเป็นจริงในปัจจุบันเชื่อมโยงวัตถุประสงค์ ภารกิจ ค่านิยม และความเชื่อเข้าด้วยกัน พรรณนาให้เห็นทิศทางขององค์กรอย่างชัดเจน มีพลังท้าทาย ทะเยอทะยาน และมีความเป็นไปได้ เน้นถึงความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ หรือดีที่สุดให้กับลูกค้าและสังคม วิสัยทัศน์จะเกี่ยวกับการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางธุรกิจ เป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดทางธุรกิจ ซึ่งจะกล่าวถึงอีกครั้งในเรื่องยุทธศาสตร์ขององค์การ
จุดที่ต่อมาจากการกำหนดวิสัยทัศน์คือ กลยุทธ์ในการทำงาน ซึ่งหากนำเอาผลของ SWOT
มาขยายจะได้ว่า S จุดที่จะต้องทำ W จุดที่จะต้องหลีกเลี่ยงหรือปรับปรุง O จุดที่จะนำมาใช้ประโยชน์ หรือจุดเปิดสู่การปฏิบัติใหม่ๆ และ T จุดที่จะหลีกเลี่ยงในการปฏิบัติ หรือปรับให้เป็นโอกาส
ดังนั้น วิสัยทัศน์ โดยปกติแล้ว จะเป็นตัวบอกความคาดหวังในอนาคตระยะ 10 – 15 ปีข้างหน้า วิสัยทัศน์จึงต้อง 1) แสดงจุดมุ่งมั่นในระยะยาวที่ค่อนข้างแน่นอน (ระยะกลางเป็นหลักกลยุทธ์ ระยะยาวเป็นหลักยุทธศาสตร์) 2) มีเจตนารมย์ (สิ่งที่ต้องการให้เกิด) ที่ชัดเจน และ จำได้ง่าย เพราะจะทำให้บุคลากรจำได้และนำไปใช้ในทางปฏิบัติ สรุปได้คือ ลักษณะของวิสัยทัศน์ต้อง : จูงใจ ระดมความคิดระดมพลังใจ ปลุกเร้าการเขียนวิสัยทัศน์ : สั้น ง่าย ให้พลัง ทั้งนี้การเขียนพันธกิจ ภารกิจ และเป้าประสงค์ขององค์การก็เช่นเดียวกัน
แนวทางการปฏิรูปการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย
กระแสการปฏิรูปอุดมศึกษาที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เทคโนโลยีและวัฒนธรรม จากกระแสโลกาภิวัฒน์ (Golobalization) แล้ว ปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้มีการปฏิรูปอุดมศึกษาทั่วโลก ยังเกิดจากสาเหตุที่สำคัญประกอบด้วย การขยายตัวของปริมาณนักศึกษาและความต้องการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่มากขึ้นทั่วโลกกว่า 6 เท่าในรอบ 3 ทศวรรษ ความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามความคาดหวังของสังคมที่มีต่ออุดมศึกษาในฐานะกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์เพื่อการแข่งขันกับนานาชาติ ปัญหาด้านคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ว่าจ้างงานและสภาพจำกัดทางด้านงบประมาณจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 รวมทั้งแนวทางต่าง ๆ ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ทำให้ต้องมีการปฏิรูปทางการศึกษาและอุดมศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม
ปี พ.ศ. 2542 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำแนวทางการปฏิบัติอุดมศึกษา ทั้งนี้โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย เป็นประธานกรรมการและกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ อธิการบดี ผู้บริหารระดับสูง นักวิชาการ คณาจารย์และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสิ้น 22 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุดมศึกษา ศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาและแนวโน้มความต้องการระดับอุดมศึกษา เพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางปฏิรูปอุดมศึกษา (สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย, 2545,หน้า5)
การดำเนินงานนอกจากมีการเสนอสถานภาพปัญหา อุปสรรค และความต้องการการพัฒนาของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละสังกัด โดยผู้แทนจากแต่ละหน่วงงาน รวมทั้งการประเมินสัมฤทธิผลและปัญหาอุปสรรคการพัฒนาอุดมศึกษาโดยรวมในช่วงแผนฯที่ผ่านมาแล้วนั้น ยังมีการศึกษาวิจัยเอกสาร (Documentary Research) การปฏิรูปอุดมศึกษาในต่างประเทศ ได้แก่ การปฏิรูปอุดมศึกษาของประเทศอังกฤษ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกาการอุดมศึกษาของฮ่องกงและทิศทางการปฏิรูปอุดมศึกษาในศตวรรษที่ 21 จากผลการประชุมระดับโลก
ผลจากการศึกษาวิเคราะห์ประเด็น วิจัย และประชุมระดมความคิดอย่างกว้างขวาง ที่ประชุมได้กำหนดประเด็นสำคัญเป็นกรอบแนวคิด (Conceptual Framework) ในการปฏิรูปอุดมศึกษารวม 10 ประเด็น ได้แก่ รูปแบบ/ประเภทสถาบันการศึกษาระดับอื่น ๆ และระบบอื่น ๆ ของสังคมการระดมทรัพยากรเพื่ออุดมศึกษา อุดมศึกษาเพื่อปวงชน โครงสร้างและการบริหารจัดการอุดมศึกษา ผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรทางการอุดมศึกษา คุณภาพมาตรฐานและการประกันคุณภาพการอุดมศึกษา การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา และบทบาทอุดมศึกษาในการสร้างพุทธิปัญญา (Wisdom) จากนั้นได้มีการศึกษาวิจัย และจัดทำรายงานเชิงแนวคิด (Concept Paper) ในประเด็นดังกล่าวรวมทั้งรายงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุดมศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่โครงสร้างใหม่ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (Transition management Issues) และได้มีการจัดสัมมนาทางวิชาการ “สู่เส้นทางการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย” เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปอุดมศึกษาไทยอีกหลายครั้งสรุปผลจากการดำเนินงานทั้งหมดได้นำมาสังเคราะห์ และจัดทำรายงานสรุปผลเรื่อง “แนวทางการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542” ขึ้น ประกอบด้วยแนวทางหลักๆ ในการปฏิรูปรวม 3 แนวทาง ได้แก่ การปฏิรูปอุดมศึกษา การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารอุดมศึกษา และการปฏิรูปการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษา
สำหรับการปฏิรูประบบอุดมศึกษาให้ยึดหลักเอกภาพทางด้านนโยบายและความหลากหลายทางการปฏิบัติ โดยมีองค์กรระดับประเทศทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษา สนับสนุนทรัพยากรรวมทั้งติดตามตรวจสอบและประเมินผล สำหรับส่วนการจัดการศึกษาให้มีความหลากหลาย อีกทั้งมีความยืดหยุ่นและมีจุดเน้นที่แตกต่างกันตามความพร้อมและความชำนาญของ แต่ละสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับต่ำกว่าปริญญาตรีและระดับปริญญามีการจัดระบบเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ อีกทั้งยังมีที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน สถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง และสถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่น
สำหรับการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารระดับอุดมศึกษา ยึดหลักเอกภาพด้านนโยบายและมาตรฐานการกระจายอำนาจ การบริหารและการจัดการทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคลและการบริหารงานทั่วไป ไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา โดยให้สถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญามีความอิสระคล่องตัวในการดำเนินงาน มีเสรีภาพทาวิชาการเพื่อความเป็นเลิศ
แนวทางการจัดโครงสร้างการบริหารอุดมศึกษา ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้
ระดับประเทศ ซึ่งมีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นองค์กรระดับประเทศ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนและมาตรฐานการศึกษา สนับสนุนทรัพยากร ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลนั้น มีองค์กรหลัก 2 องค์กร ทำหน้าที่กำกับดูแลการศึกษาระดับอุดมศึกษา ประกอบด้วย สภาการศึกษา ซึ่งกำกับดูแลการศึกษาในภาพรวมทุกระดับและคณะกรรมการการอุดมศึกษา กำกับดูแลอุดมศึกษาโดยตรงดูแลอุดมศึกษาโดยตรง
ระดับเขตพื้นที่การศึกษา รับผิดชอบกำกับดูแลอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี
ในระดับสถานศึกษา นั้นสถานศึกษาที่จัดอุดมศึกษาซึ่งเป็นนิติบุคคลให้ขึ้นตรงต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทั้งหมด โดยภายใต้การกำกับดูแลของสภาการศึกษาแต่ละแห่ง ส่วนสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางในสังกัดกระทรวงอื่น ๆ และสถาบันอุดมศึกษาของท้องถิ่นให้อยู่ภายใต้กำกับของหน่วยงานนั้นๆ โดยคำนึงถึงความพร้อมโดยคำนึงถึงความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการ การมีส่วนร่วมและการระดมทรัพยากรจากภายในท้องถิ่นเป็นสำคัญด้วย
นอกจากนี้ให้มีองค์กรอิสระในส่วนกลาง อาทิเช่น สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์ วิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษา สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาทำหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผน ส่งเสริมและประสานการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาองค์กรวิชาชีพครู ผู้บริหารการศึกษาทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานจรรยาบรรณและพัฒนาวิชาชีพ เป็นต้น
สถาบันอุดมศึกษาในศตวรรษใหม่นี้ นอกจากจะมีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการแล้ว คุณภาพนับเป็นจุดเน้นที่สำคัญของอุดมศึกษาที่พึงปรารถนา ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานอุดมศึกษา นอกจากแต่ละสถาบันต้องจัดให้มีระบบประกันคุณภาพภายใน และต้องได้รับการประเมินคุณภาพจากภายนอก ตามที่กฎหมายกำหนดตามหลักเกณฑ์และวิธีการแล้วต้องมีการกำหนดมาตรฐานกลางเพื่อการรับรองหลักสูตร ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้องค์การ สมาคมวิชาการ/วิชาชีพ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลคุณภาพและมาตรฐานอุดมศึกษามีการพัฒนาระบบข้อมูล
พัฒนาตัวชี้วัดคุณภาพ (Indicators) ตลอดจนสนับสนุนให้มีการจัดระดับ (Rating) หรือจัดอันดับ (Ranking) สถาบันอุดมศึกษาเพื่อเป็นกลไก กระตุ้นในการพัฒนาคุณภาพและเป็นข้อมูลในการเลือกรับบริการของผู้ประสงค์จะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ตลอดจนผู้ใช้ผลผลิตของสถาบันเป็นต้น
ส่วนการเตรียมการปฏิรูปอุดมศึกษาไปสู่การเปลี่ยนแปลง (Transition Management) ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 นั้นนอกจากจะต้องมีการจัดโครงสร้างการบริหารอุดมศึกษาแบบใหม่ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติดังกล่าวแล้ว จะต้องมีการกำหนดแนวปฏิบัติประเด็นต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกัน ทั้งในด้านการบริหารวิชาการ การบริหารงบประมาณ และการบริหารงานบุคคล อันได้แก่การเตรียมการให้สถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาที่มีความพร้อมออกนอกระบบอย่างเป็นระบบ การจัดให้มีระบบรับรองมาตรฐานหลักสูตรการรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพสถาบันอุดมศึกษากลไกการรับนักศึกษาและการเทียบโอนผลการเรียน เกณฑ์การจัดตั้งและรับรองวิทยฐานะของสถาบัน การเรียกชื่อปริญญา การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เป็นมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติร่วมกันสำหรับสถาบันอุดมศึกษาต่อไป (สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย,2545, หน้า 5-8)
สรุปได้ว่า การปฏิรูปอุดมศึกษาตามแนวทางที่เสนอ จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ กระแสสังคมที่เป็นความสำคัญ การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง การร่วมมือประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ นโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจนและต่อเนื่อง การพัฒนาขีดความสามารถ (Capacity Building) ในการดำเนินงาน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นปัจจัยพื้นฐานการสนับสนุนทางด้านงบประมาณ และตลอดจนการนำเสนอไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการปัจจัยดังกล่าวย่อมเกิดให้เตรียมความพร้อมและเตรียมรับเพื่อป้องกันปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น
ผลกระทบต่อระบบการศึกษาไทย ทั้งในด้านตัวป้อน (Input) ตัวระบบการศึกษาไทย (Through put) ตัวส่งออก (Output) และข้อมูลการสะท้อนกลับ
องค์ประกอบของระบบ ไม่ว่าระบบใดๆในปัจจุบัน ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 7 ประการ ได้แก่ 1. วัตถุประสงค์ ( Goal ) 2. สิ่งนำเข้า ( Input ) 3. กระบวนการ ( Process หรือ through put) 4. สิ่งนำออก (Output) 5. การส่งข้อมูลย้อนกลับ (Feed back) 6. การควบคุม ( Control ) 7. สิ่งแวดล้อม ( Environment ) การทำงานที่สัมพันธ์ขององค์ประกอบทั้ง7 จะมีวัตถุประสงค์ของระบบเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ ตัวอย่างแสดงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ดังแสดงในภาพ
ภาพ ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ในระบบ
เอกสารประกอบการสอน Powerpoint รายวิชา ประมวลการสอนรายวิชา การวิเคราะห์รูปแบบปฏิบัติการในการบริหารการศึกษา(Operation Analysis in Educational Administration) โดย รศ.ดร.ประกอบ คุปรัตน์
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ. (2546). พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ. กรุงเทพฯ : องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (รสพ.)
การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทางการศึกษา ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก : แนวโน้มและประเด็นสำคัญ Educational Change and Development in the Asia-Pacific region : trends and issues . กรุงเทพมหานคร:ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟันนี่พลับบลิชชิ่ง. สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ. 2549.
ความเป็นมืออาชีพในการจัดการและบริหารการศึกษา ยุคปฏิรูปการศึกษา . กรุงเทพมหานคร: บริษัท แอล.ที.เพรส. จำกัด. วิตร ศรีสอ้าน. 2544.
งานจัดการฐานข้อมูล กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ ศูนย์สารสนเทศ สำนักปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ. 2549. แหล่งที่มา: www.moe.go.th. เรื่องการศึกษาของไทยในอดีต. ไพฑูรย์ สินลารัตน์. 2550.
แนวคิดและหลักการเกี่ยวกับนโยบาย และประมวลสาระชุดวิชานโยบายและการวางแผนการศึกษา .พิมพ์ครั้งที่ 3.นนทบุรี: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. ศูนย์ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อปฏิรูปการศึกษา.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2543.
นโยบายทิศทางการปฏิรูปการศึกษา :ยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ. สร.สาร. 7 (พฤศจิกายน):1-5. สำนักนโยบายและแผนการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. 2543.
การวิเคราะห์ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติในรูปแบนโยบายและแผน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การ
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2546). ประมวลสาระชุดวิชา ทฤษฎีและแนวปฏิบัติในการบริหารการศึกษา หน่วยที่ 13-15. ระบบการศึกษาไทย. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
สำนักนายกรัฐมนตรี. (2545). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545. กรุงเทพฯ : พริกหวานกราฟฟิค จำกัด.
สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย. (กันยายน 2545). อนุสารอุดมศึกษา และแนวทางปฏิรูปอุดมศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัย ประมวลผลงานตามนโยบายรัฐบาลของทบวงมหาวิทยาลัย. 28(291), 5-8
อาจารย์มืออาชีพ : แนวคิด เครื่องมือ และการพัฒนา. กรุงเทพมหานคร: เครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย. ธีระ รุญเจริญ. 2550.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
การนำเสนอ อยากให้มีการจัดเว้นวรรค มีการจัดวางที่เป็นระบบยิ่งขึ้น แต่ขอให้พยายามต่อไป
ตอบลบ