Business Computer Program, Faculty of Management science, Surindra Rajabhat University, Surin, Thailand 32000
วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553
วิวัฒนาการและความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นสากลและความเป็นนานาชาติของสถาบันอุดมศึกษา
แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นสากลและความเป็นนานาชาติของสถาบันอุดมศึกษา
การศึกษานานาชาติ (International Education) หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ในโลกเกี่ยวกับการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ด้านการศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือกันโดยอาศัยการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย จึงเกิดการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ บุคลากร อาจารย์ นักศึกษา ตลอดจนเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยมีภาษากลางเป็นสื่อ (ทบวงมหาวิทยาลัย, 2534: 5) และ International Education (1988: 296) ได้ให้ความหมายการศึกษานานาชาติว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านการศึกษา และวัฒนธรรมระหว่างประเทศ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีลักษณะเป็นโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างประเทศที่เป็นทางการ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หมายรวมถึง การให้ความช่วยเหลือทางด้านการศึกษาแก่ประเทศกำลังพัฒนา การติดต่อสื่อสารระหว่างนักศึกษา นักวิชาการในประเทศต่างๆ โดยเน้นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ
สารานุกรมเกี่ยวกับอุดมศึกษา ในด้านของความเป็นสากลของการอุดมศึกษา International Encyclopedia of higher Education (Knowles, 1977) ได้ให้ความหมายว่าคือ การนำแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการศึกษานานาชาติ และโครงการร่วมมือทางด้านวิชาการ ไปปฏิบัติโดยวิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา รัฐบาล นักวิชาการ และนักศึกษา สำหรับสากลศึกษา ทองอินทร์ วงศ์โสธรและคณะ (2540) ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นสากลของการอุดมศึกษาว่าคือ ความพยายามของสถาบันอุดมศึกษาในการร่วมมือกับหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษา ในการร่วมมือกับหน่วยงานหรือสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ ในการดำเนินการด้านการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมในฐานะที่สถาบันอุดมศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก สำหรับ Alfonso (1990) ได้ศึกษามิติความเป็นสากลของการอุดมศึกษาและได้พัฒนาดัชนีเพื่อวัดความเป็นนานาชาติของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้ คือ หลักสูตรต่างประเทศ หลักสูตรนานาชาติ การศึกษาดูงานในต่างประเทศ จำนวนคณาจารย์ในโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ จำนวนเงินอุดหนุนที่ได้รับเพื่อดำเนินกิจกรรมนานาชาติ และความร่วมมือในการวิจัย และการฝึกอบรมนานาชาติ นอกจากนี้ Ellingboe (อ้างถึงในพรทิพย์ กาญจนนิยต, 2547) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญของความเป็นสากลของอุดมศึกษา 6 ประการ คือ 1) ภาวะผู้นำและการบริหารจัดการความเป็นสากลทั่วทั้งสถาบัน 2) ความเป็นสากลของหลักสูตร 3) การมีคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ด้านการสอนและวิจัยในเวทีนานาชาติ 4) จำนวนของผู้เรียนในการศึกษาและวิจัยในต่างประเทศ 5) การประสมประสานคณาจารย์และนักศึกษานานาชาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในสถาบันอุดมศึกษา และ 6) การพัฒนาหน่วยที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนักศึกษาให้มีความเป็นนานาชาติ
ความเป็นสากลของการอุดมศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาของนักศึกษาเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากวัตถุประสงค์ของการศึกษาเกี่ยวกับโลก (Global education) ที่มุ่งหมายให้นักศึกษารู้จักกาลเทศะ (time and place) ให้เข้าใจในความซับซ้อนของปัญหา ซึ่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เตรียมนักศึกษาเพื่อความเปลี่ยนแปลง ให้มีความคิดพินิจพิเคราะห์ ลดความเป็นท้องถิ่นนิยม ให้นักศึกษาเข้าใจอย่างถูกต้องว่า ความสัมพันธ์ต่างๆ ไม่ได้คงที่แต่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ (Scott, 1994: 73। อ้างถึงใน ทองอินทร์ วงศ์โสธร และคณะ 2540)
ปัจจัยที่เป็นตัวเร่งของความเป็นสากลของการอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกามีหลายประการ ได้แก่
1) ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจโลก
2) การกำหนดให้บรรจุความเป็นสากลของการศึกษาไว้ในเกณฑ์มาตรฐานของ
3) การรับรองวิทยฐานะของหลักสูตรทางด้านบริหารธุรกิจและการฝึกหัดครู
4) แรงกระตุ้นจากสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษา
5) ความเป็นสากลของวิทยาการแขนงต่างๆ
6) บุคคลฝ่ายต่างๆ ได้แก่ ผู้นำ อาจารย์ นักศึกษา ซึ่งมีโลกทัศน์สากล
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น