การนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติ
ในการดำเนินการวิจัยเชิงนโยบาย วิโรจน์ สารรัตนะ (2548) และ Oaks (2003) ได้แบ่งขั้นตอนในการดำเนินการวิจัยเชิงนโยบายออกเป็น 5 ขั้น ดังนี้ คือ 1) ขั้นเตรียมการ (preparation) 2) ขั้นการกำหนดกรอบแนวคิด (conceptualization) 3) การวิเคราะห์เชิงเทคนิค (technical analysis) 4) การวิเคราะห์ข้อเสนอแนะ(recommendation analysis) และ 5) การสื่อสารข้อเสนอแนะ (communication)
1) ขั้นเตรียมการ (preparation) ขั้นเตรียมการเป็นการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศเบื้องต้น เกี่ยวกับสภาพในอดีต ปัจจุบัน ของบริบทนโยบายในปัญหาที่ศึกษา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในกระบวนการกำหนดทิศทางการศึกษาวิจัย ซึ่งประกอบด้วย 1) บริบทการกำหนดนโยบาย ทั้งในอดีต ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตนอกจากนี้ยังรวมถึงกลไกเชิงนโยบาย (policy mechanism) กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ (key stakeholders) และทำความเข้าใจโครงสร้างอำนาจ (power structure) ในการกำหนดนโยบาย 2) นิยาม ข้อตกลงเบื้องต้นและค่านิยมของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อปัญหาที่ศึกษาเพื่อให้เกิดความชัดเจน 3) ประเภทของข้อเสนอแนะที่เป็นไปได้เกี่ยวกับปัญหาที่ศึกษามีประเด็นใดบ้างที่เปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เป็นเส้นต่อเนื่อง (continuum) แบบค่อยเป็นค่อยไป (incremental change) ข้อเสนอแนะเพื่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ (fundamental change) หรือข้อเสนอแนะแบบผสม (mixed scanning) 4) ทรัพยากรที่ต้องการและจำเป็นสำหรับการวิจัย เงิน รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ด้วย และเพื่อเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารในกระบวนการขั้นเตรียมการดำเนินการวิจัยให้เกิดประสิทธิภาพ มี 8 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นการเลือกปัญหาที่จะศึกษาวิจัย 2) ขั้นกำหนดประเด็นนโยบายที่สำคัญต่างๆ 3) การวิเคราะห์ความเป็นมาของประเด็นนโยบาย 4)สืบค้นงานวิจัยที่มีมาก่อนหน้า ผลที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงและความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง 5) จัดหาแผนภูมิองค์การและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม 6) กำหนดรูปแบบกระบวนการตัดสินใจ 7)สัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้เสียเพื่อรวบรวมข้อมูล 8) สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งในขั้นนี้ เป็นความพยายามของผู้วิจัยเพื่อตอบคำถามว่า ใครคือผู้ใช้ผลการวิจัย ใครมีอำนาจในการตัดสินใจ ความผูกพันและความคาดหวังในการนำผลการวิจัยไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุผลมีมากน้อยเพียงใด บริบททางวัฒนธรรมสังคมเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด มีความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า เหมาะสม ก่อนที่จะตัดสินใจทำการวิจัย
2) ขั้นตอนกำหนดกรอบแนวคิด (conceptualization) ในขั้นตอนการกำหนดกรอบแนวคิดการวิจัยเชิงนโยบาย มีกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม คือ 1) การพัฒนาตัวแบบเบื้องต้นของปัญหาที่ศึกษา (developing a model of the social problem) 2) การกำหนดคำถามการวิจัย (formulating research questions) 3) การเลือกผู้ทำการวิจัย (choosing research study investigators) สำหรับกรณีการพัฒนาตัวแบบในขั้นต้นของปัญหาที่ศึกษานั้น ต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ถึงนิยามปัญหา สาเหตุของปัญหา สร้างตัวแบบ กำหนดค่านิยมและข้อตกลงเบื้องต้น เพื่อนำมาสู่การกำหนดคำถามการวิจัย (research questions) ซึ่งการพัฒนาตัวแบบเบื้องต้นของปัญหาที่ศึกษาต้องอาศัยข้อมูลที่ได้ในระยะเตรียมการ และศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง (literature review) ดังนั้นตัวแบบเบื้องต้น ที่แตกต่างกันจะนำไปสู่คำถามการวิจัยที่แตกต่างกันด้วยดังนั้นต้องพัฒนาขึ้นด้วยความรอบคอบ มีข้อมูลประกอบอย่างเพียงพอและเห็นพ้องต้องกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และหากมีความเห็นขัดแย้งกัน ต้องพัฒนาตัวแบบขึ้นใหม่ได้ผสมผสานกัน หรืออาจต้องเลือกใช้ตัวแบบใดตัวแบบหนึ่ง ส่วนกรณีคำถามการวิจัย กำหนดหลังจากการพัฒนาตัวแบบเบื้องต้นแล้วเพราะคำถามการวิจัยจะนำไปสู่การวางแผนระเบียบวิธีการวิจัย และการนำผลการวิจัยไปใช้ ดังนั้นการกำหนดคำถามการวิจัยต้องคำนึงถึงขั้นตอนดังนี้ 1) กำหนดว่าผลที่คาดหวังจากการวิจัยคืออะไร เป็นไปในรูปแบบใด (incremental / fundamental / mixed) และเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายในระดับสูงหรือต่ำ 2) กำหนดประเด็นของปัญหาที่ศึกษา ควรคำนึงถึงความเป็นพหุมิติ (multi dimension) จะทำให้ได้ผลการวิจัยที่ครอบคลุม 3) กำหนดตัวแปรที่สามารถจัดกระทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้ (malleable variables) 4) กำหนดคำถามการวิจัยจากตัวแปรที่กำหนดที่จะนำไปสู่ผลที่คาดหวัง โดยสะท้อนถึงประเด็นปัญหา สามารถศึกษาหาคำตอบได้เหมาะสมกับเวลาและเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งปัจจุบันและอนาคตและต้องแสดงถึงนัยเชิงนโยบายโดยกำหนดประเด็นให้ผู้ตัดสินใจใช้แก้ปัญหาได้ สำหรับกรณีการเลือกผู้ดำเนินการวิจัย มีทางเลือก 3 ประเด็นคือ 1) ศึกษาเป็นทีมหรือเดี่ยวควรพิจารณาจากผลกระทบ ถ้าเป็นเรื่องใหญ่มีผลกระทบมากควรมีการศึกษาเป็นทีม และต้องคำนึงถึงหลักสหวิทยาการ (interdisciplinary) 2) การเลือกภูมิหลังของผู้วิจัย 3) ที่ปรึกษาการทำวิจัย อาจเป็นทีมที่ปรึกษาหรือเป็นคณะกรรมการอำนวยการ
3) ขั้นการวิเคราะห์เชิงเทคนิค (technical analysis) ในขั้นการวิเคราะห์เชิงเทคนิค เป็นขั้นตอนการตรวจสอบปัจจัย (factors) ที่อาจเป็นสาเหตุของปัญหา โดยมีขั้นตอนดังนี้ คือ 1) การนิยามศัพท์เชิงปฏิบัติการของตัวแปร 2) การออกแบบระเบียบวิธีการวิจัย 3) การวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล 4) การพัฒนาร่างข้อเสนอแนะ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 3.1) การนิยามศัพท์เชิงปฏิบัติการของตัวแปร (operationalization of variables) เป็นการกำหนดนิยามตัวแปรที่จัดกระทำและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ (malleable variables) ที่กำหนดในขั้นตอนกำหนดคำถามการวิจัย และอยู่ในรูปดัชนีชี้วัด (indicators) มีความเฉพาะเจาะจงและวัดได้ 3.2) การออกแบบระเบียบวิธีการวิจัย (design of study methodology) การวิจัยเชิงนโยบายมุ่งเน้นหาข้อเสนอเพื่อการตัดสินใจ ระเบียบวิธีการวิจัยสามารถนำมาดัดแปลง (adapting) ผสม (combining) หรือปรับ (improvising) ให้มีความเหมาะสมมี 7 รูปแบบ คือ 1) การสังเคราะห์ประเด็น (focused synthesis) ใช้ในกรณีข้อมูลมาจากหลายแห่ง 2) การวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ (secondary analysis) ใช้กรณีเพื่อการสร้างฐานข้อมูลใหม่ 3) การทดลองภาคสนาม (field experiments) โดยการทดลองใช้แบบหลักการสุ่ม (randomized field experiment) หรือแบบกึ่งทดลอง (quasi-experiment) 4) การวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative methods) อาจเป็นการสัมภาษณ์กลุ่ม (focused group discussion) การสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (participant observation) 5) การสำรวจ (survey) 6) กรณีศึกษา (case study) การวิเคราะห์ต้นทุน กำไร และต้นทุน ประสิทธิผล 3.3) การวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล (results an conclusion) ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของข้อมูลความสามารถในการตอบคำถามการวิจัย ใช้การวิเคราะห์หาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบพหุคูณ การวิเคราะห์โครงสร้างสัมพันธ์เชิงเหตุผล และเน้นผลการวิจัยเป็นสำคัญ 3।4) การพัฒนาร่างข้อเสนอแนะ (developing tentative policy recommendations) ให้นำความรู้เกี่ยวกับบริบททางสังคม การเมือง (sociopolitical context) มาพิจารณาประกอบด้วย และการให้ข้อเสนอแนะควรมีความหลากหลายทางเลือก ควรคำนึงถึงข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติทั้งในระยะสั้นและระยะยาวและข้อเสนออาจเกี่ยวกับกลไกเชิงนโยบาย(policy mechanisms) ที่สนับสนุนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ
4) ขั้นการวิเคราะห์ข้อเสนอแนะ (recommendation analysis) การวิจัยส่วนใหญ่จบลงด้วยการสรุปผลและการให้ข้อเสนอแนะการวิจัยว่า “ควรทำอะไร” แต่สำหรับการวิจัยเชิงนโยบายจะเป็นการศึกษาต่อว่า “ควรทำอย่างไร” ประกอบด้วยการดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ 4.1) การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (analysis of stakeholders) ที่มีผลต่อการตัดสินใจนโยบาย โดยอาจจำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ตัดสินใจนโยบาย (decision makers) และกลุ่มผู้มีอิทธิพล (influencers) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ 1) ปริมาณทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น เงิน อาสาสมัคร การประสานงาน ข้อมูลสารสนเทศ 2) คุณลักษณะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3) ความสามารถของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หลังจากนั้นนำมาจัดทำแผนภาพโครงสร้างอำนาจ (power structure) โดยระบุกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทิศทางการสนับสนุน รวมถึงการคัดค้านสถานะอำนาจและโอกาสในการตัดสินใจ การวิเคราะห์องค์การ (analysis of organization) จะต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบด้านโครงสร้างองค์การเพื่อการปฏิบัติ ทรัพยากรที่จะใช้และกลไกเชิงนโยบายที่จะสนับสนุนการปฏิบัติ 4.2) การคาดการณ์ถึงผลกระทบ (predict potential consequences of recommendations) จากข้อเสนอแนะอาจพิจารณาได้ใน 3 กรณี คือ 1) ผลกระทบที่คาดหวังและไม่ได้คาดหวัง 2) ผลกระทบโดยรวมที่มีต่อนโยบายอื่นหรือแผนงานอื่น และ 3) สิ่งที่อาจเกิดขึ้นถ้าข้อเสนอแนะนั้นไม่ได้นำไปปฏิบัติ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจเกิดจากการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การใช้เทคนิคเดลฟาย หรือการวิเคราะห์ความเสี่ยง 4.3) การคาดคะเนโอกาสในการปฏิบัติ (estimating the probability of implementation) จากผลการวิเคราะห์ศักยภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ศักยภาพขององค์การ และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น พอที่จะทำให้ผู้วิจัยคาดคะเนถึง “โอกาสในการปฏิบัติ” ทั้งในแง่ความเป็นไปได้ (feasible) และการยอมรับ (acceptable) ในลักษณะคาดคะเน (subjective) จากการแปลผลข้อมูลของผู้วิจัย ซึ่งโอกาสความเป็นไปได้ประมาณ 20-40 % ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตามข้อเสนอแนะจากผลการวิจัยควรมีความหลากหลายทางเลือก โดยอาจแสดงค่าเฉลี่ยเพื่อเปรียบเทียบ “ข้อเสนอทางเลือก” (alternative recommendations) แต่ละทางเลือกนั้นด้วย 4।4) การจัดเตรียมข้อเสนอแนะสุดท้าย (preparation of final recommendations) ในขั้นนี้ผู้วิจัยจะต้องตั้งคำถามว่า “ข้อเสนอแนะนั้นจะมีผลต่อปัญหาที่ศึกษามากน้อยเพียงใด” ซึ่งหากประเมินได้ต่ำกว่า 60% ให้ปฏิบัติโดย 1) ยอมรับในความเป็นไปได้ที่ต่ำนั้น 2) เปลี่ยนแปลงเป้าหมายของข้อเสนอ และ 3) ปรับแก้ไขข้อเสนอใหม่โดยพิจารณาประเด็นความเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปกับการเปลี่ยนแปลงพื้นฐาน และต้องวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียและวิเคราะห์องค์การ
5) ขั้นการสื่อสารผลการวิจัยต่อผู้ตัดสินใจนโยบาย การสื่อสารผลการวิจัยต่อผู้ตัดสินใจนโยบายถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้ผลการวิจัยได้รับการพิจารณาและนำไปสู่การปฏิบัติ และหากว่าไม่มีการสื่อสารผลงานวิจัยต่อผู้ตัดสินใจนโยบาย ทั้งนี้ก็ยังถือว่ายังไม่สิ้นสุดดังนั้นการสื่อสารที่มีความเหมาะสมคือ การสื่อสารแบบสองทาง (two way communication) และควรเลือกวิธีการและสื่อให้มีความเหมาะสมเพื่อให้ผู้ตัดสินใจนโยบายรับรู้ เข้าใจ และยอมรับในผลการวิจัย โดยเสนอแนะว่าการสื่อสารด้วยคำพูด (oral communication) ได้ผลที่ดีกว่าการเขียน (written communication) จากแนวคิดการวิจัยเชิงนโยบายดังกล่าวสรุปได้ว่านโยบายมีความสำคัญยิ่งต่อการบริหารงานในทุกองค์การโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านการจัดการศึกษา ทั้งนี้ถือว่านโยบายเป็นตัวกำหนดชี้นำทิศทางและแนวทางการปฏิบัติเพื่อการพัฒนาไปสู่เป้าหมายขององค์การ ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติและกลไกเชิงนโยบายที่จะสนับสนุนให้การดำเนินการจัดการศึกษาบรรลุผลนั่นคือ เป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่ง และในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ประสบความสำเร็จและได้ผลดีนั้นนอกจากผู้บริหารได้พิจารณาเลือกใช้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีความเหมาะสมกับหน่วยงาน องค์การ แล้วยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่กำหนดความล้มเหลวหรือความสำเร็จของการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ จากการศึกษาผลงานวิจัยและการทบทวนผลงานทางวิชาการของ ศุภชัย ยาวะประภาษ (2538) พบว่าปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จและความล้มเหลวของหน่วยงานสามารถสรุปได้ดังนี้ 1) ในด้านลักษณะของนโยบาย พบว่านโยบายที่มุ่งให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ น้อยที่สุด นโยบายจะประสบผลสำเร็จมากกว่านโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ มาก นโยบายที่มีการแพร่หลายการรับรู้จะส่งผลได้ดีกว่านโยบายที่จำกัดการรับรู้ นโยบายที่สามารถทดลองปฏิบัติก่อนจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่านโยบายที่ไม่ผ่านการทดลองใช้ และนโยบายที่สามารถชี้ให้เห็นผลที่ชัดเจนและสามารถส่งข้อมูลย้อนกลับจะเห็นผลสำเร็จของนโยบายที่มีความชัดเจนกว่า 2) ในด้านวัตถุประสงค์ของนโยบาย พบว่า ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ ความยากง่ายในการรับรู้วัตถุประสงค์ ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของนโยบาย ความเที่ยงตรงของข่าวสารจากผู้นำนโยบายสู่ผู้ปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้ถ้ามีความชัดเจนนั่นคือความสำเร็จของนโยบายด้วย 3) ความเป็นไปได้ทางเทคนิคหรือทฤษฎี การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วส่งผลต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติ ดังนั้นเพื่อความสำเร็จของการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติต้องให้ความสนใจเกี่ยวกับการนำเสนอร่างนโยบายต้องไม่ยุ่งยากซับซ้อน การเลือกทฤษฎีที่เชื่อถือได้และมีความเหมาะสมจะทำให้กรอบการมองปัญหาอย่างถูกต้อง ชัดเจนขึ้น และเทคโนโลยีที่เลือกใช้จะต้องสอดคล้องกับสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติ 4) ความพอเพียงของทรัพยากร ได้แก่ งบประมาณ กำลังและคุณภาพของบุคลากร ความพร้อมของปัจจัยบริการ เช่น วัสดุอุปกรณ์ สถานประกอบการ เครื่องมือเครื่องใช้และสิ่งอำนวยความสะดวก 5) ลักษณะของหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติ เช่น ประเภทของหน่วยงาน หน่วยงานใหม่ที่ถูกผลักดันจากอิทธิพลการเมืองหรือหน่วยงานเดิมที่มีความพร้อมทางทรัพยากรอยู่แล้ว โครงสร้างและการลำดับขั้นการบังคับบัญชาถ้าเป็นหน่วยงานเล็กจะมีโอกาสประสบผลสำเร็จได้เร็วกว่าหน่วยงานขนาดใหญ่ ด้านการสื่อสารแบบเปิดที่มีความสัมพันธ์ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง ด้านความสามารถของผู้นำ ถ้าผู้นำที่เข้มแข็งจะสามารถระดมความสนับสนุนจากแหล่งต่างๆ ได้ดีและสามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่ประสบผลสำเร็จได้ 6) ทัศนคติของผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ แต่จะต้องมีทัศนคติที่ดีกับวัตถุประสงค์ของนโยบาย ผู้ปฏิบัติต้องมีความเข้าใจ เห็นด้วยและมีความผูกพัน เพื่อขจัดความขัดแย้งซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการปฏิบัติตามนโยบาย 7) ความสัมพันธ์ระหว่างกลไกต่างๆ ที่นำนโยบายไปปฏิบัติ ซึ่งได้แก่ จำนวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ดั้งเดิม จำนวนจุดตัดสินใจถ้ามีมากจะส่งผลให้การปฏิบัติตามนโยบายมีความล่าช้า และการแทรกแซงจากหน่วยงานระดับบนถ้ามีมากเกินไป นโยบายสู่การปฏิบัติจะประสบปัญหาได้ นอกจากนี้จากการศึกษาของสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ (2540) พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ได้แก่ แหล่งที่มาของนโยบาย ความชัดเจนของนโยบาย การสนับสนุนนโยบาย ความซับซ้อนในการบริหาร สิ่งจูงใจของผู้ปฏิบัติ และการจัดสรรทรัพยากร เพื่อการสนับสนุนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เหมาะสมและเพียงพอ และจากศึกษาผลการประเมินการนำนโยบายการศึกษาไปสู่การปฏิบัติของ Green & Waterman (1996) พบว่าการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น ความเป็นไปได้ของแผนงาน โครงการ ตามนโยบายของรัฐที่นำไปปฏิบัติในพื้นที่ต่างกัน มีปัญหาต่างกัน การช่วยเหลือจากนักวิชาการเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของการบรรลุผลตามนโยบาย และความสำเร็จของโครงการต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์การและบุคคลต่างๆ นอกจากนี้ในประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายการกระจายอำนาจการจัดการศึกษา ของ Wohistetler & Mohrman (1996) พบว่านโยบายการกระจายอำนาจทางการศึกษาจากส่วนกลางไปยังสถานศึกษา ทั้งนี้โดยให้ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมดูแล ได้แก่ผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครองและสมาชิกในชุมชนพบว่าความสำเร็จของนโยบายเกิดจากการให้อำนาจการตัดสินใจในเรื่องนโยบาย การปฏิบัติและสั่งการ ในเรื่องงบประมาณและหลักสูตร และนอกจากนี้ควรมีการให้ความรู้แก่บุคลากรในองค์กรเกี่ยวกับเทคนิคการจัดการ ทักษะงาน (job skills) ทักษะการทำงานเป็นทีม (teamwork) การให้ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงรายรับ รายจ่ายขององค์การ และการใช้ระบบการให้รางวังที่พิจารณาจากผลงานขององค์กรและผลที่เกิดจากแต่ละบุคคล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น