วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552

แนวทางการพัฒนาการศึกษานานาชาติระดับอุดมศึกษา

จากเวปไซต์วิชาการดอมคอม มีการเขียนบทความทางการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของการศึกษานานาชาติ ในอนาตคไว้ดังนี้
คาดว่าในปี 2550 จะมีหลักสูตรนานาชาติระดับอุดมศึกษาเปิดใหม่อีกเป็นจำนวนมาก เพื่อหวังยกระดับให้เทียบเท่ากับต่างชาติและสามารถแข่งขันได้ภายใต้ข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าบริการการศึกษา ถึงอย่างไรก็ตามการเติบโตในเชิงปริมาณของหลักสูตรที่เพิ่มขึ้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใส่ใจถึงเรื่อง “คุณภาพ” และ “ความเป็นสากล” อย่างแท้จริงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษานานาชาติให้มีคุณภาพและเป็นสากลนั้น ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ได้จากต่างประเทศ ที่ได้พัฒนาส่งเสริมคุณภาพหลักสูตรนานาชาติจนประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งมีแนวทางที่น่าสนใจดังนี้ การจัดการศึกษานานาชาติระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ
ประเทศญี่ปุ่น: ส่งเสริมด้วยการให้ทุนการศึกษาแก่ชาวต่างชาติ ประเทศญี่ปุ่นได้ก่อตั้งสมาคมการศึกษานานาชาติแห่งประเทศญี่ปุ่น (AIEJ) มีวัตถุประสงค์ในการจัดสรรทุนการศึกษาระยะสั้นให้แก่นักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโท สามารถเข้าศึกษาต่อในกรอบระยะเวลาตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นจะเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความรู้กับมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศต่าง ๆ เพื่อมุ่งส่งเสริมการวิจัยเป็นหลัก ผลจากการก่อตั้งสมาคมฯพบว่า ประเทศญี่ปุ่นสามารถสร้างรายได้มหาศาลจากการรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามา ประกอบกับแรงจูงใจเรื่องการให้ทุนการศึกษา ทำให้จำนวนนักศึกษาต่างชาติมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางในการดึงทรัพยากรบุคคลจากประเทศต่าง ๆ มีผลต่อการพัฒนางานวิจัยของประเทศญี่ปุ่นให้ดีขึ้นด้วย ประเทศสิงคโปร์: ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศการศึกษานานาชาติของประเทศสิงคโปร์เติบโตแบบก้าวกระโดด จากการปฏิรูประบบการศึกษาที่มีรากฐานมาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในประเทศอังกฤษ เมื่อ 40 ปีก่อน ส่งผลให้การศึกษาสิงคโปร์แข็งแกร่งจนสามารถสร้างพันธมิตรทางการศึกษากับมหาวิทยาลัยระดับต้น ๆ ของโลก ให้เข้ามามีส่วนในการวางแผนการศึกษา เขียนหลักสูตรนานาชาติ และให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับปรุงหลักสูตรนานาชาติให้ทันสมัยตามกระแสโลก เช่น มหาวิทยาลัยจอห์นฮอบส์กิน (John Hopkins University) มหาวิทยาลัยสแตนท์ฟอร์ด (Stanford University) มหาวิทยาลัยคอลแนล (Cornell University) เป็นต้น รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญด้านการศึกษานานาชาติ โดยทุ่มงบประมาณ และพัฒนาหลักสูตรให้มีมาตรฐานใกล้เคียงและเทียบเท่ากับการศึกษายุโรปโดยเปิดศูนย์บริการการศึกษาสิงคโปร์ (Singapore Education Services Center: SESC) เป็นศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารด้านการศึกษาแก่นักศึกษาต่างชาติ เช่น หลักสูตรการศึกษา การใช้ชีวิตในประเทศสิงคโปร์ การหารายได้พิเศษระหว่างเรียน และหลักสูตรอบรมพิเศษสำหรับนักศึกษาต่างชาติ อาทิ หลักสูตรพัฒนาภาษาอังกฤษ ภาษาจีน รวมถึงการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มนักศึกษาต่างชาติ เปิดหลักสูตรให้นักศึกษา ”ค้นหา” ตนเอง (Personal Development Courses) เป็นหลักสูตรระยะสั้นที่สิงคโปร์ต้องการพัฒนาให้นักศึกษาต่างชาติใช้เวลาว่างเพื่อค้นหาศักยภาพตนเอง ตามความสนใจ เช่น การออกแบบท่าเต้น หลักสูตรกราฟิกดีไซน์ หลักสูตรการสร้างหุ่นยนต์ เป็นต้น โดยรัฐบาลจะเชื่อมโยงกับภาคเอกชน บริษัท ห้างร้าน ให้มีส่วนสนับสนุน และอำนวยความสะดวก แก่นักศึกษาต่างชาติ โดยมีเงื่อนไขลดหย่อนภาษีแก่ภาคเอกชนที่ให้ความร่วมมือจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนการศึกษานานาชาติ ประเทศสิงคโปร์ให้ความสำคัญเรื่องการบริการด้านการศึกษาและการประชาสัมพันธ์การศึกษานานาชาติของสิงคโปร์ โดยจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ ด้านบริการการศึกษา(Singapore Tourism Board (STB) - Education Services Division) ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการศึกษาในตลาดต่างประเทศ จัดตั้งวิสาหกิจนานาชาติแห่งสิงคโปร์ (International Enterprise Singapore (IE) ทำหน้าที่พัฒนาคุณภาพและส่งเสริมธุรกิจด้านการศึกษานานาชาติและเปิดขยายสาขาข้ามชาติ จัดตั้งองค์กรพัฒนาการศึกษาเอกชน (SPRING Singapore) ทำหน้าที่พัฒนาคุณภาพด้านการบริหารแก่สถาบันการศึกษาเอกชนในประเทศประเทศมาเลเซีย: ผลักดันการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อความเป็น “สากล”รัฐบาลมาเลเซียมีส่วนอย่างมากในการผลักดัน และออกกฎให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ และให้เจ้าหน้าที่ที่บริการด้านการศึกษาจะต้องสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับนักศึกษาต่างชาติได้ ด้านการเรียนการสอน มีการผลักดันให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศให้เป็นสากลยิ่งขึ้น รวมถึงการสนับสนุนให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยที่สร้างแรงดึงดูด ทำให้จำนวนนักศึกษาต่างชาติ ตัดสินใจศึกษาต่อในประเทศมาเลเซียมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ประเทศออสเตรเลีย: พัฒนาเจ้าหน้าที่บริการ “นานาชาติ”การศึกษานานาชาติในออสเตรียนั้น ไม่เพียงเห็นความสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะแก่บุคลากรที่ให้บริการการศึกษา เพื่อให้บุคลากรเหล่านั้นมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับการขยายตัวของจำนวนนักศึกษาต่างชาติ เช่น ทักษะด้านภาษา ทักษะด้านเทคนิคการสอน จิตวิทยาการสอน ฯลฯ จากตัวอย่างของต่างประเทศที่ได้กล่าวมาข้างต้น สามารถนำหลักการต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาการศึกษานานาชาติอุดมศึกษาของไทยได้ดังนี้ทำตลาดเชิงรุก มุ่งรักษาฐานตลาดเดิมและขยายตลาดใหม่ พร้อมจัดตั้งศูนย์บริการนักศึกษานานาชาติเพื่ออำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการเจาะตลาดของลูกค้า รวมทั้งอำนวยความสะดวกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หอพักนักศึกษาต่างชาติ การเดินทาง การใช้ชีวิตในประเทศไทย จัดให้มีการประชาสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ทั้งการจัดนิทรรศการการศึกษาในต่างประเทศ จัดตั้งตัวแทนสถาบันการศึกษาในต่างประเทศหรือเจรจาความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นต้นสร้างพันธมิตรทางวิชาการ การสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกเป็นหุ้นส่วนร่วมลงทุน และพัฒนาการศึกษานานาชาติ เช่น การสร้างหรือปรับหลักสูตรให้ทันสมัย การให้คำปรึกษาการจัดการศึกษานานาชาติ ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับการศึกษานานาชาติให้มีมาตรฐาน รวมทั้งควรสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจในการทำวิจัย เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ อันเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือแก่สถาบันอุดมศึกษาไทยพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาให้มีความเป็นสากล โดยเร่งสร้างบุคลากรด้านการศึกษาให้มีคุณภาพและเพียงพอที่จะรองรับนักศึกษาต่างชาติ โดยการฝึกอบรมหรือเพิ่มทักษะที่เป็นประโยชน์แก่บุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาควรจัดโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกให้เพียงพอ เช่น ห้องปฏิบัติการ ศูนย์คอมพิวเตอร์ ห้องสมุดนานาชาติ เป็นต้นปรับบทบาทภาครัฐให้เป็นสากล รัฐบาลควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทย และวางมาตรการป้องกันการเอาเปรียบจากสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศในระดับที่เหมาะสมการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติถือเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ เพื่อให้การอุดมศึกษาไทยสามารถรับมือกับการเปิดเสรีทางการศึกษา ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในกาสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและความเป็นสากล เพื่อให้การอุดมศึกษาไทยสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันในด้านการศึกษาที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น
เรื่อง : ดร।นลินี ทวีสินผู้อำนวยการสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น