วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553

การส่งเสริมการศึกษานานาชาติในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย

การส่งเสริมการศึกษานานาชาติในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย ประเทศไทยมีความสำคัญของความเป็นสากลของการอุดมศึกษามีชัดเจนในนโยบายความเป็นนานาชาติของอุดมศึกษาในไทยนั้น เริ่มต้นอย่างชัดเจนในช่วงการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 ขึ้น โดยมีการเตรียมการที่จะพัฒนาความเป็นสากลของอุดมศึกษาไทย ทั้งการกำหนดในแผนพัฒนาอุดมศึกษาระยะยาว (พ.ศ. 2533-2542) การกำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 และการสร้างความเข้าใจผ่านประชุมสัมมนาระดับชาติด้วยในเวลาเดียวกัน จากแผนพัฒนาอุดมศึกษาระยะยาว (พ.ศ. 2533-2547) นั้น มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาความเป็นสากล ได้แก่ (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2541: 340-343) 1) ในด้านการสอน กำหนดแนวทางส่งเสริมการศึกษานานาชาติ หลักสูตรไทยศึกษา การเรียนการสอนภาษา การพัฒนาทักษะสากล เช่น ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และภาษา 2) ในด้านการวิจัย กำหนดให้พัฒนาวิชาการไปสู่ความเป็นเลิศในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ 3) ในด้านการบริการวิชาการ กำหนดให้พัฒนารากฐานความร่วมมือด้านการบริการกับต่างประเทศ เช่น การตั้งองค์การบริการวิชาการบางประเภทร่วมกับบริษัทนานาชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ 4) ในด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมได้กำหนดแนวทางให้ส่งเสริมการสงวนความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพื่ออยู่ร่วมกับประชาคมโลกอย่างมีศักดิ์ศรีและสันติสุข จากแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) ได้กล่าวถึงนโยบายการส่งเสริมความเป็นสากลและมาตรการต่างๆ สามารถสรุปได้ดังนี้ (ศรัณย์ เลิศรักษ์มงคล, 2543: 403-404) 1) ปรับปรุงระบบอุดมศึกษาไทยให้สามารถส่งเสริมบทบาทของประเทศที่เพิ่มขึ้นทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจในประชาคมโลก จากนโยบายดังกล่าวรัฐฯ จึงได้กำหนดให้มีมาตรการต่างๆ เข้ามารองรับ เช่นการสนับสนุนการจัดการศึกษา เพื่อให้เพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งประเทศในภูมิภาคอินโดจีน ในกลุ่มอาเซียน ประชาคมเอเชียและแปซิฟิก ประชาคมยุโรปจนถึงยุโรปตะวันออก ซึ่งครอบคลุมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านไทยคดี ศึกษาการจัดหลักสูตรนานาชาติที่ให้โอกาสคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมเข้ามาศึกษา การขยายเครือข่ายความร่วมมือในการผลิตบัณฑิต การวิจัย การฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนนักศึกษา และนักวิชาการ ขณะเดียวกันมีการมุ่งเน้นให้มีการส่งเสริมบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้สามารถในการช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในเรื่องการส่งคณะผู้แทนไปเจรจาความร่วมมือการให้ทุนการศึกษาและฝึกอบรม การสนับสนุนบุคคลากรอุดมศึกษาให้ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศตลอดจนการสร้างบุคลากรดังกล่าวให้มีศักยภาพในการปฏิบัติงานในองค์กรระหว่างประเทศ 2) ให้มีการปรับปรุงสาระและรูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อให้บัณฑิตมีความเป็นมนุษย์มีโลกทัศน์กว้างมีความเข้าใจในมรดก และวัฒนธรรมไทยสามารถวิเคราะห์ด้วยเหตุผลและทักษะใหม่ที่จำเป็นยุคสารสนเทศ และการเพิ่มบทบาทของประเทศในประชาคมโลก จากนโยบายนี้รัฐฯจึงได้กำหนดมาตรการหลักไว้หลายประการ เช่น เน้นให้มีการพัฒนาหลักสูตรชุดการเรียน หลักสูตรวิชาการศึกษาทั่วไปให้มีลักษณะของการเรียนด้วยตนเอง หรือการเรียนภายใต้คำแนะนำมากขึ้น การเน้นทักษะที่สำคัญด้านภาษาและการสื่อความหมาย การใช้คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศและการจัดการ จากข้อเสนอแนะจากการประชุมสัมมนาเรื่อง ความเป็นสากลของการอุดมศึกษาไทยที่จัดขึ้นโดยทบวงมหาวิทยาลัย ในระหว่าง 28-30 มกราคม 2543 ได้รวบรวมข้อเสนอแนะจากกรณีดังกล่าวไว้หลายประการซึ่งสอดคล้องกับแผนข้างต้นสามารถสรุปได้ดังนี้(สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2541: 343) 1.มหาวิทยาลัยไทยควรเป็นผู้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาความเป็นสากลในไทย 2.การพัฒนาความเป็นสากลของอุดมศึกษาควรเน้นที่การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ยังมีการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา การปฏิรูปเนื้อหาสาระและรูปแบบหลักสูตร การสนับสนุนทางด้านงบประมาณ เพื่อสร้างโครงสร้างและปัจจัยพื้นฐานในมหาวิทยาลัย และสนับสนุนกิจการความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนต่างๆ 3.ในระยะยาวควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาไทย โดยเฉพาะนักศึกษาทางด้านภาษาและสังคมมีโอกาสไปศึกษาระยะสั้นในต่างประเทศและเปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างประเทศเข้ามาเรียนในประเทศไทยมากขึ้น 4.ควรมีการพัฒนามาตรฐานทางวิชาการระหว่างประเทศ การพัฒนาหลักสูตรที่มีการเรียนวิชาที่มีความเป็นสากลอย่างสม่ำเสมอ 5.ควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในมหาวิทยาลัย เช่น หน่วยงานประสานงานด้านการศึกษานานาชาติ และระบบข้อมูลด้านการศึกษานานาชาติ 6.ควรทำความเข้าใจในระหว่างบุคคลากรของมหาวิทยาลัยให้เห็นความสำคัญและการยอมรับเป็นสากลของการอุดมศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น